กิจกรรมบำบัดกับการฝึกการทำงานของสมอง (Cognitive Training) สำหรับผู้สูงอายุ

กิจกรรมบำบัดกับการฝึกการทำงานของสมอง (Cognitive Training) สำหรับผู้สูงอายุ



   ผู้เขียน : รศ.ดร.สุภาวดี  พุฒิหน่อย   

        ในวัยผู้สูงอายุระบบประสาทและสมองจะทำงานช้าลง โดยเฉพาะการทำงานขั้นสูงของสมองหรือเรียกว่า การทำงานด้านความคิดความเข้าใจ (cognitive functions) เช่น ความจำ (memory) ภาษา (language) การรับรู้ระยะและทิศทาง (visuospatial) การทำงานทางสมองของผู้สูงอายุที่ลดลงส่งผลให้เกิดความล่าช้าในหลายๆ หน้าที่ เช่นการเรียกคืนความจำ การจับคู่ใบหน้าและชื่อ การเรียกชื่อ เป็นต้น เมื่อบกพร่องมาก ๆ อาจนำมาสู่ภาวะความคิดความเข้าใจบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment: MCI) สามารถนำมาสู่โรคอัลไซเมอร์ได้

        การฝึกการทำงานของสมอง คือการบำบัดประเภทหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง อาศัยการกระตุ้นกระบวนการทำงานของสมอง การบำบัดนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานของสมองมักจะลดลงตามอายุซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาในการทำกิจกรรมประจำวันและคุณภาพชีวิตที่ลดลงตามมา ในทางกิจกรรมบำบัดการฝึกความคิดความเข้าใจผู้สูงอายุต้องได้รับการฝึกร่วมกับนักกิจกรรมบำบัด การฝึกฝนนั้นอาศัยการทำแบบฝึกและทำกิจกรรมที่หลากหลายซึ่งนักกิจกรรมบำบัดจะเป็นผู้วิเคราะห์และออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับความสามารถและปรับความยากของกิจกรรมเพื่อสร้างความท้าทายและส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมองให้ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป การทำแบบฝึกหัดอาจรวมถึงเกมฝึกความจำ ปริศนา การแก้ปัญหา รวมทั้งให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมตามที่นักกิจกรรมบำบัดได้ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความสนใจและสมาธิ ความจำ การรับรู้ อยู่ภายใต้กลยุทธ์ในการพัฒนาความจำและทักษะการรับรู้


        การฝึกความรู้ความเข้าใจในทางกิจกรรมบำบัดเป้าหมายสุดท้ายสำหรับเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถในทำกิจกรรมในทุกกิจกรรมตราบใดที่ผู้สูงอายุยังคงต้องการทำและสามารถทำได้ด้วยตนเองอย่างมีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดี การฝึกเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการทำงานของสมอง กล่าวคือการทำงานของสมองต้องมีประสิทธิภาพในการรับรู้ข้อมูล นำข้อมูลมาประมวลผล และสั่งการ สมองที่มีประสิทธิภาพดีส่งผลให้ผู้สูงอายุสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจวัตรประจำวัน ทำธุรกรรมทางการเงิน จัดการการรับประทานยาของตน การสัญจรในชุมชน และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมได้  


        บทสรุป การฝึกความคิดความเข้าใจในทางกิจกรรมบำบัดเพื่อกระตุ้นการทำงานสมองให้ผู้สูงอายุยังคงความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเอง สิ่งสำคัญคือผู้สูงอายุต้องได้รับการฝึกร่วมกันกับนักกิจกรรมบำบัดที่สามารถกำหนดแผนการบำบัดได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการและเป้าหมายเฉพาะของแต่ละบุคคลได้

บรรณานุกรม
Ballesteros, S., Kraft, E., Santana, S., & Tziraki, C. (2015). Maintaining older brain functionality: a
          targeted review. Neuroscience & Biobehavioral Reviews, 55, 453-477.
Hill, N. L., Mogle, J., Bhargava, S., Whitaker, E., & Ballard, E. L. (2017). Theoretical frameworks for
          cognitive rehabilitation in Alzheimer's disease and related dementias: a scoping review.
          Brain sciences, 7(11), 144.
Irish M, Lawlor BA, Coen RF, O'Mara SM. Everyday episodic memory in amnestic mild cognitive
          impairment: A preliminary investigation. BMC Neurosci 2011;12:80.
Kelly, M. E., Loughrey, D., Lawlor, B. A., Robertson, I. H., Walsh, C., Brennan, S., & McHugh Power, J. E.
          (2014). The impact of cognitive training and mental stimulation on cognitive and everyday
          functioning of healthy older adults: A systematic review and meta-analysis. Ageing research
          reviews, 15, 28-43.
Lampit, A., Hallock, H., & Valenzuela, M. (2014). Computerized cognitive training in cognitively
          healthy older adults: a systematic review and meta-analysis of effect modifiers. PloS one, 9(7),
          e101947.