HISTORY OF OCCUPATIONAL THERAPY

ประวัติภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ภาควิชากิจกรรมบำบัด ปัจจุบันสังกัดอยู่ในคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยกำเนิดของภาควิชาได้เริ่มตั้งแต่
ปี พ.ศ. 2516 มีโครงการดำเนินการจัดตั้งสาขาวิชา ณ เวลานั้นใช้ชื่อว่า “โครงการจัดตั้งสาขาวิชาอาชีวบำบัด”

โดยมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์เทอดชัย ชีวะเกตุ เป็นหัวหน้าโครงการ ทั้งนี้เพื่อให้สังกัดอยู่ในคณะเทคนิคการแพทย์ ซึ่ง ณ เวลานั้นก็กำลังดำเนินการจัดตั้งเป็นคณะเทคนิคการแพทย์อยู่ และได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นคณะเทคนิคการแพทย์อย่างเป็นทางการ

ในปี พ.ศ. 2519  โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัยโรจน์ แสงอุดม เป็นคณบดี ในระยะแรกของการดำเนินการจัดตั้ง 
สาขาวิชาอาชีวบำบัดนั้น ได้มีการรับสมัครอาจารย์ที่เป็นผู้สําเร็จการศึกษาทางด้านสาขากายภาพบําบัดและพยาบาลศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ณรงค์ สุขาบูรณ์  อาจารย์อรพรรณ วิญญูวรรธน์  อาจารย์พิมพ์อําไพ โภวาที  อาจารย์สร้อยสุดา วิทยากร อาจารย์พรทิพย์ ธีรสวัสดิ์ (วัฒนาวิทวัส)  และอาจารย์มยุรี เพชรอักษร โดยได้ส่งไปรับการศึกษาอบรม ณ ต่างประเทศได้แก่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสหรัฐอเมริกาในหลักสูตรอาชีวบำบัด (Occupational Therapy) เพื่อที่จะได้กลับมาสร้างหลักสูตร จัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษาไทย และให้บริการทางด้านนี้แก่ผู้ป่วย ผู้พิการภายในประเทศ


ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้จัดตั้ง
ภาควิชาอาชีวบำบัด สังกัดในคณะเทคนิคการแพทย์ ซึ่งต่อในปีเดียวกันได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชากิจกรรมบำบัด เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางการรักษาที่จัดให้กับผู้รับบริการในประเทศ ซึ่งเน้นการใช้กิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายในการบำบัดรักษา ที่ไม่ใช่การใช้งานอาชีพเพียงอย่างเดียว นับเป็นสาขาวิชากิจกรรมบำบัดแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี


ภาควิชากิจรรมบำบัดแห่งนี้ ได้รับนักศึกษารุ่นที่ 1 จํานวน 10 คน ในปี พ.ศ. 2523 และเพิ่มจำนวนรับมากขึ้นในปีต่อๆ มา จนถึงปัจจุบันสามารถรับนักศึกษาเข้าเรียนได้ปีละ ประมาณ 60 – 70 คน
ในปี พ.ศ. 2539 ภาควิชากิจกรรมบําบัดได้มีการขอตรวจรับรองมาตรฐานของหลักสูตรจาก World Federation of Occupational Therapists (WFOT) ซึ่งกรรมการด้านวิชาการของ WFOT ได้ให้การรับรอง
หลักสูตรกิจกรรมบําบัดของภาควิชากิจกรรมบําบัด ในการประชุมที่ประเทศเคนยาในปีเดียวกัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ภาควิชากิจกรรมบำบัด ได้มีการเปิดสอนในระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขากิจกรรมบําบัด ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทยเช่นกัน